1. ความเป็นมาของโครงการ
จุดผ่านแดนถาวรภูดู่เป็นด่านการค้าชายแดนถาวรสังกัดด่านศุลกากรทุ่งช้าง ถือเป็นจุดผ่านแดนถาวรไทย-ลาว
แห่งที่ 3 ของประเทศไทยที่เชื่อมต่อกับแขวงไชยบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นการค้าขายผ่านจุดผ่านแดนถาวร สามารถค้าขายสินค้าได้หลายประเภท/ชนิด ยกเว้นสินค้าผิดกฎหมาย และสินค้าต้องห้าม สามารถค้าขายได้ไม่จำกัดปริมาณ และวงเงิน ด่านภูดู่ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 บ้านม่วงเจ็ดต้น ตำบลม่วงเจ็ดต้น อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ ปัจจุบันการเดินทางจะใช้ทางหลวงหมายเลข 117 และทางหลวงหมายเลข 1268 และตัดเข้าสู่ถนนสายหลักบ้านม่วงเจ็ดต้น-ด่านภูดู่ เป็นทางหลวงขนาด 2 ช่องทาง (ไป-กลับ) ซึ่งเส้นทางดังกล่าวไม่สามารถรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นเส้นทางที่ใช้ขนส่งสินค้า กรมทางหลวงจึงมีแนวคิดในการพัฒนาทางหลวงแนวใหม่ เชื่อม ต.ม่วงเจ็ดต้น –
จุดผ่านแดนถาวรภูดู่ เพื่อเสริมโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางถนน ยกระดับในการให้บริการ อำนวยความสะดวกในการเดินทาง สนับสนุนการค้าชายแดนจุดผ่านแดนถาวรด่านภูดู่ กับ สปป.ลาว (มติ ครม.สัญจร กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ณ จังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดเลย ระหว่างวันที่ 17-18 กันยายน 2561) จากการตรวจสอบพื้นที่โครงการเบื้องต้นพบว่า แนวเส้นทางของโครงการผ่านพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ และพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 2 จึงเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่
19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 136 ตอนพิเศษ 3 ง วันที่ 4 มกราคม 2562 ดังนั้น กรมทางหลวงจึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ซีวิลดีไซน์แอนด์คอนซัลแต้นส์ จำกัด ร่วมกับบริษัท อินทิเกรเทด เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ จำกัด และบริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินการสำรวจและออกแบบโครงการทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางหลวงแนวใหม่ เชื่อม ต.ม่วงเจ็ดต้น – จุดผ่านแดนถาวรภูดู่ รวมถึงจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมข้างต้น และเพื่อให้การพัฒนาโครงการก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่โครงการน้อยที่สุด
การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการพัฒนาโครงการเป็นกระบวนการสำคัญสำหรับการศึกษาของโครงการ เพื่อให้ประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบข้อมูลของโครงการอย่างถูกต้องและทั่วถึง เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาใช้ประกอบการศึกษาของโครงการ เพื่อให้การพัฒนาโครงการเป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม
และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด โดยในขณะนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการศึกษา จึงได้จัดให้มีการประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 1)
2. วัตถุประสงค์ของโครงการ
เพื่อสำรวจและออกแบบรายละเอียดตลอดจนเตรียมเอกสารข้อมูลประกอบการประกวดราคาและประเมินราคา สำหรับโครงการทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางหลวงแนวใหม่ เชื่อม ต.ม่วงเจ็ดต้น – จุดผ่านแดนถาวรภูดู่ มีระยะทางประมาณ 5.6 กิโลเมตร เพื่อให้การพัฒนาโครงการมีความสมบูรณ์ทางด้านวิศวกรรม สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม
3. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1) เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายทางถนน และการเดินทางบนทางหลวงสายหลัก ทำให้ผู้ใช้ทางสัญจรได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นทางเลือกในการเดินทางให้แก่ประชาชน
2) เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และการพัฒนาด้านต่างๆ ของประเทศอย่างยั่งยืน ตลอดจนช่วยส่งเสริม
คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม สร้างโอกาสทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวให้แก่พื้นที่โครงการ
3) เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการขนส่งสินค้า และสนับสนุนการค้าชายแดนจุดผ่านแดนถาวรด่านภูดู่
กับ สปป.ลาว
4. พื้นที่ศึกษาของโครงการ
การศึกษาโครงการทางหลวงแนวใหม่ มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณจุดตัดทางหลวง 1268 กม. 119+400 และจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณชายแดนไทย-ลาว ระยะทางรวมประมาณ 5.6 กิโลเมตร โดยพื้นที่ศึกษาของโครงการครอบคลุมในระยะ 500 เมตรจากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 2 หมู่บ้าน 1 ตำบล 1 อำเภอ ได้แก่ ตำบลม่วงเจ็ดต้น อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ ดังแสดงในตารางที่ 4-1 และรูปที่ 4-1
จังหวัด | อำเภอ | ตำบล | หมู่บ้าน | องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น |
อุตรดิตถ์ | บ้านโคก | ม่วงเจ็ดต้น | หมู่ที่ 2 หมู่บ้านม่วงเจ็ดต้น หมู่ที่ 7 หมู่บ้านม่วงเจ็ดต้น | องค์การบริหารส่วนตำบลม่วงเจ็ดต้น |
1 จังหวัด | 1 อำเภอ | 1 ตำบล | 2 หมู่บ้าน | 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น |

5. ลักษณะโครงการ
โครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางหลวงแนวใหม่เชื่อม ต.ม่วงเจ็ดต้น จุดผ่านแดนถาวรภูดู่ มีจุดเริ่มต้นโครงการบนทางหลวงหมายเลข 1268 ประมาณ กม. 119+400 และมีจุดสิ้นสุดโครงการชายแดนไทย-ลาว ระยะทางรวมประมาณ 5.6 กิโลเมตร โดยออกแบบให้มีขนาด 4 ช่องหรือมากกว่า รวมออกแบบทางแยกต่างระดับอย่างน้อย 2 แห่ง ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ โครงข่ายทางหลวง และปริมาณการจราจรในอนาคต พร้อมระบบระบายน้ำ สาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องและส่วนประกอบอื่นๆ ที่จำเป็น เพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ทางด้านการจราจรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งให้คำนึงถึงความปลอดภัยลดผลกระทบต่อชุมชน และสภาพแวดล้อมในแนวสายทาง
6. ขอบเขตการศึกษา
การสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางหลวงแนวใหม่ เชื่อม ต.ม่วงเจ็ดต้น – จุดผ่านแดนถาวรภูดู่ มีขอบเขตการศึกษาของโครงการ ดังนี้
6.1 งานศึกษาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
ที่ปรึกษาจะศึกษา สำรวจ และวิเคราะห์ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคมเพื่อรวมรวมข้อมูลสถิติ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ที่ศึกษาโครงการ จากนั้นจึงนำข้อมูลสถิติและข้อมูลที่เกี่ยวข้องดังกล่าวไปศึกษาและวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ที่ศึกษาโครงการ
6.2 งานศึกษาคัดเลือกแนวเส้นทางโครงการและรูปแบบการพัฒนา
ที่ปรึกษาจะศึกษาและรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลรายละเอียดสายทางปัจจุบันอุปสรรค ตลอดจนข้อจำกัดในการพัฒนาแนวเส้นทาง ทั้งข้อจำกัดทางด้านกายภาพและด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลจากการทบทวนการศึกษาและแผนพัฒนาที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการพิจารณาประกอบการกำหนดทางเลือก จัดทำแผนที่แสดงข้อจำกัดของพื้นที่ และโครงการที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันและอนาคตโดยรอบพื้นที่ศึกษา รวมทั้งกำหนดทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาในอนาคต และต้องศึกษาเปรียบเทียบในด้านวิศวกรรมและจราจร เศรษฐกิจและการลงทุน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเปรียบเทียบด้านสิ่งแวดล้อม จะต้องนำประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE)
6.3 การวิเคราะห์โครงการด้านเศรษฐกิจ
ที่ปรึกษาจะต้องประเมินเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ค่าควบคุมงาน ค่าออกแบบ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ค่าบำรุงรักษา ตลอดอายุการวิเคราะห์โครงการ รวมทั้ง ค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการเสริมอื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายตามมาตรการเพื่อป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรายการอื่นๆ ที่สามารถประเมินเป็นมูลค่าทางการเงินได้ รวมทั้งการประเมินผลประโยชน์ จะต้องศึกษาและแสดงที่มาของผลประโยชน์ที่ได้รับทั้งผลประโยชน์ทางตรงและผลประโยชน์ทางอ้อมของโครงการ และที่ปรึกษาจะต้องวิเคราะห์เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ของโครงการ โดยแสดงผลการวิเคราะห์ในรูปของอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อการลงทุน มูลค่าปัจจุบันสุทธิ อัตราผลตอบแทนปีแรก พร้อมทั้งวิเคราะห์ความอ่อนไหวของโครงการให้ครอบคลุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น
6.4 งานสำรวจและคาดการณ์ปริมาณจราจร และวิเคราะห์ระดับการให้บริการ
• งานสำรวจข้อมูลด้านการจราจร เพื่อตรวจสอบสภาพการจราจรในพื้นที่ศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาแบบจำลองด้านการจราจรและขนส่ง ตลอดจนใช้เป็นฐานในการวิเคราะห์สภาพการจราจรในอนาคตต่อไป โดยที่ปรึกษาได้ทำการสำรวจข้อมูลทางด้านการจราจรและขนส่ง
• งานคาดการณ์ปริมาณจราจร จะทำการรวบรวบข้อมูลที่จำเป็นในการสร้างแบบจำลองด้านการจราจรและขนส่ง เพื่อจำลองพฤติกรรมการเดินทางและคาดการณ์ปริมาณจราจรภายในโครงข่ายทางหลวงบริเวณพื้นที่ศึกษา
• งานวิเคราะห์ระดับการให้บริการการจราจร ทำการวิเคราะห์สภาพการจราจรบนเส้นทางโครงการโดยวิเคราะห์จากข้อมูลปริมาณจราจรและข้อมูลทางกายภาพของเส้นทาง เพื่อให้ทราบถึงระดับการให้บริการ (Level of Service, LOS) ของเส้นทาง และจะทำการตรวจสอบเพื่อปรับปรุงการออกแบบแนวเส้นทาง เพื่อให้ได้ระดับการให้บริการของเส้นทางอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
6.5 งานสำรวจแนวทางและระดับทำการสำรวจรายละเอียดภูมิประเทศ สำรวจแนวทาง สำรวจระดับ ทำรูปตัดตามยาว รูปตัดตามขวางและเส้นชั้นความสูง สำรวจรายละเอียดสองข้างทาง สำรวจทางแยกและย่านชุมชน สำรวจรายละเอียดสิ่งก่อสร้างสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ร่องน้ำ ระดับน้ำ ข้อมูลทางอุทกวิทยา ข้อมูลการสัญจรทางน้ำในลำน้ำ รวมถึงรายละเอียดที่จำเป็นต่อการดำเนินงานด้านจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และรายละเอียดอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการออกแบบ
6.6 งานสำรวจตรวจสอบดินและวัสดุ
ทำการสำรวจตรวจสอบสภาพพื้นผิวดินและสภาพใต้พื้นผิวดินที่จำเป็น ศึกษาการทรุดตัวของคันทางที่จะเกิดขึ้น และตรวจสอบหาแหล่งวัสดุที่เหมาะสมและเพียงพอต่องานก่อสร้าง
6.7 งานออกแบบรายละเอียดงานทาง
ออกแบบรายละเอียดงานทางในด้านต่างๆ ได้แก่ การออกแบบแนวทางแนวระดับ รูปตัดทางขนาน ทางข้าม ทางลอด เครื่องหมายและป้ายจราจร รวมถึงงานระบบอำนวยความปลอดภัย การจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้าง สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ และงานอื่นๆ ที่จำเป็น โดยการออกแบบต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ทันสมัย และมาตรฐานของกรมทางหลวง
6.8 งานออกแบบรายละเอียดทางแยก
ดำเนินการออกแบบทางแยกบริเวณโครงการกรณีที่เป็นทางแยกต่างระดับ (Grade Separation Intersection) จะออกแบบรูปแบบทางแยกที่แตกต่างกันไม่น้อยกว่า 3 รูปแบบ โดยจะคำนึงถึงความสวยงามทางด้านสถาปัตยกรรม พร้อมทั้งศึกษาเปรียบเทียบในด้านราคาค่าก่อสร้าง วิธีการก่อสร้าง และผลกระทบต่อการจราจรระหว่างการก่อสร้างตลอดจนรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศรวมทั้งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เสนอต่อกรมทางหลวง เพื่อพิจารณาให้ข้อเสนอแนะประกอบการคัดเลือกรูปแบบทางแยกต่างระดับที่เหมาะสมของโครงการ ก่อนที่จะดำเนินการออกแบบในรายละเอียด
6.9 งานออกแบบโครงสร้างชั้นทาง งานฐานราก วิเคราะห์เสถียรภาพและการทรุดตัวของคันทาง
ออกแบบโครงสร้างชั้นทางให้รองรับน้ำหนักและปริมาณการจราจรตามอายุ การออกแบบและตามลักษณะการใช้งานของแต่ละพื้นที่ ความหนา และคุณสมบัติของวัสดุเพื่อให้ได้รูปแบบก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานของกรมทางหลวง เพื่อเพิ่มเสถียรภาพของโครงสร้างชั้นทาง ให้สอดคล้องกับรูปแบบที่ปรับปรุงใหม่ รวมถึงสภาพภูมิประเทศโดยจะเสนอรูปแบบและลักษณะโครงสร้างที่เหมาะสมทางด้านวิศวกรรม โดยคำนึงถึงลักษณะทางกายภาพของถนน และองค์ประกอบอื่นๆ รวมถึงสภาพชั้นดินเดิม
6.10 งานออกแบบโครงสร้างสะพาน โครงสร้างทางแยกต่างระดับ อาคารระบายน้ำและโครงสร้างอื่นๆ
ดำเนินการออกแบบรายละเอียดโครงสร้างสะพาน โครงสร้างทางแยกต่างระดับ และอาคารระบายน้ำ ให้คำนึงถึงความสามารถในการระบายน้ำให้เป็นไปตามาตรฐาน AASHTO LRFD Specification ฉบับล่าสุด โดยพิจารณาถึงความแข็งแรงต่อการรับน้ำหนักและแรงกระทำต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยรูปแบบโครงสร้างจะต้องสอดคล้องกับรูปแบบงานทางและรองรับการขยายในอนาคต
6.11 งานระบบระบายน้ำ
ดำเนินการศึกษาลักษณะต่างๆ ทางอุทกวิทยา สภาพการระบายน้ำรวมทั้งระบบน้ำทิ้งเดิมจากชุมชน โดยออกแบบทางต่างระดับ ถนนบริการ ช่องทางระบายน้ำ สะพาน และโครงสร้างระบายน้ำอื่นๆ ให้สอดคล้องกับทางต่างระดับเดิม ถนนเดิมและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องตลอดจนการระบายนํ้าทิ้งออกจากอาคารระบายน้ำ สำหรับงานระบายน้ำบนสะพาน หรือโครงสร้างทางต่างระดับ ต้องเสนอรูปแบบการระบายน้ำที่เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดปัญหาการท่วมขังบนสะพาน เชิงลาดคอสะพาน หรือโครงสร้างทางต่างระดับ ต้องคำนึงถึงความเรียบร้อย สวยงาม การบำรุงรักษา การเลือกใช้วัสดุต้องมีความแข็งแรง ทนทานและมีความกลมกลืนกับโครงสร้างสะพาน
6.12 งานระบบไฟฟ้า
ออกแบบระบบวงจรไฟฟ้า และการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ในโครงการ เช่น ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจร เป็นต้น โดยจะออกแบบตามหลักวิศวกรรมไฟฟ้า
6.13 งานสถาปัตยกรรม
ออกแบบงานสถาปัตยกรรมของอาคารต่างๆในโครงการ เช่น โครงสร้างสะพาน ทางลอด อาคารระบายน้ำ ภูมิสถาปัตย์งานทาง หรือส่วนประกอบอื่นๆ ให้มีความสวยงาม ทันสมัยสอดคล้องกับลักษณะของพื้นที่ โดยคำนึงถึงภูมิทัศน์ การใช้ประโยชน์ของพื้นที่ และอื่นๆ
6.14 งานดำเนินการด้านสิ่งสาธารณูปโภค
ประสานงานกับหน่วยงานสาธารณูปโภค เพื่อตรวจสอบข้อมูลสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมเสนอแนะรูปแบบ ตำแหน่งสาธารณูปโภคต่างๆ ภายในเขตทาง โดยกำหนดไว้ในแบบก่อสร้างเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการดำเนินการก่อสร้างทาง และระบบการคมนาคมขนส่งอื่นๆ ภายในเขตทางทั้งในปัจจุบันและอนาคต
6.15 งานดำเนินการทางด้านสิ่งแวดล้อม
แบ่งการศึกษาเป็น 3 ขั้นตอนหลัก คือ การตรวจสอบข้อจำกัดสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE) และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียด (Environmental Impact Assessment : EIA) ตาม รูปที่ 6-1 โดยมีรายละเอียดดังนี้

- การตรวจสอบข้อจำกัดทางด้านสิ่งแวดล้อม
การตรวจสอบข้อจำกัดของพื้นที่ด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจจะมีผลกระทบหรือได้รับผลกระทบต่อโครงการ โดยมีเกณฑ์ในการกำหนดพื้นที่ที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อสอดคล้องกับข้อกำหนด ระเบียบกฎหมย และประโยชน์ในการอนุรักษ์ และหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม
1) พื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรี
2) ประกาศกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประกาศในราชกิจานุเบกษา เล่มที่ 136 ตอนพิเศษ 3ง วันที่ 4 มกราคม 2562 ตามท้ายประกาศลำดับที่ 20 และลำดับที่ 33
3) กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง - การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE)
การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น จะประเมินผลกระทบให้ครอบคลุมองค์ประกอบ 4 องค์ประกอบ คือ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต รวมทั้งสิ้น 37 ปัจจัย โดยใช้วิธีเมทริกซ์ (Matrix) เพื่อคัดกรองและสรุปประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญ นำไปกำหนดหลักเกณฑ์ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ในการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสม และนำผลการศึกษาที่ได้จากขั้นตอนนี้ไปใช้ประกอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียด (EIA) - การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียด (Environmental Impact Assessment: EIA)
ดำเนินการสำรวจภาคสนาม และเก็บตัวอย่างคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม เพื่อนำมาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียดตามแนวเส้นทางที่เหมาะสม โดยวิเคราะห์จากสภาพสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน แนวโน้ม และการคาดการณ์ของผลกระทบในสภาพอนาคตของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมต่างๆ ภายในขอบเขตพื้นที่ก่อสร้างซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงหรือทางอ้อมจากการพัฒนาโครงการ เพื่อนำไปกำหนดมาตรการป้องกันแก้ไข และลดผลกระทบ ตลอดจนมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งมาตรการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
6.16 งานการมีส่วนร่วมของประชาชน
การดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางหลวงแนวใหม่ เชื่อม ต.ม่วงเจ็ดต้น – จุดผ่านแดนถาวรภูดู่ ดังรูปที่ 6-2 ประกอบด้วยกิจกรรมดังนี้
- การประชาสัมพันธ์โครงการ
เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของโครงการให้ประชาชนได้รับทราบ ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เช่น Website โครงการ: www.ทล-ใหม่-ม่วงเจ็ดต้น-ด่านภูดู่-สปป-ลาว.com, Line Official Account:
ม่วงเจ็ดต้น-ภูดู่ลาว และ Facebook page: www.facebook.com/moungjedton.phudoo.lao ตลอดระยะเวลาการศึกษาของโครงการ - การเข้าพบหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งจะกำหนดให้มีการเข้าพบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนต่างๆ ของการศึกษา เช่น หน่วยงานสาธารณูปโภค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่อนุรักษ์ ด่านศุลกากร ฯลฯ

- การเข้าพบหน่วยงานราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการก่อนการรับฟังความคิดเห็น
เพื่อเผยแพร่ให้ข้อมูล ประชาสัมพันธ์ รายละเอียดเบื้องต้นของโครงการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 จังหวัดพิษณุโลก สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) และหน่วยงานปกครองระดับจังหวัด ระดับอำเภอ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภค เช่น การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) ฯลฯ - การประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 1)
เป็นการจัดประชุมเพื่อเผยแพร่ข้อมูลความเป็นมาโครงการ วัตถุประสงค์ของโครงการ พื้นที่ศึกษา ขอบเขตการศึกษา และแผนการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ และรับฟังข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อการศึกษาจากกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง และเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโครงการ รวมทั้งการขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องในการศึกษาโครงการ - การประชุมเสนอแนวคิดในการกำหนดแนวเส้นทางเลือก และหลักเกณฑ์การคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสมของโครงการ (กลุ่มย่อย ครั้งที่ 1)
เพื่อนำเสนอความคืบหน้าของการศึกษา โดยเฉพาะแนวเส้นทางเลือกและหลักเกณฑ์การคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสมของโครงการ และรับฟังแนวคิด ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาใช้พิจารณาประกอบการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสมของโครงการ - การประชุมสรุปผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสมของโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2)
เป็นการจัดประชุมเพื่อนำเสนอความคืบหน้าของการศึกษา โดยเฉพาะผลคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสมของโครงการ และรับฟังข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปประกอบการออกแบบรายละเอียดต่อไป - การประชุมหารือมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม (กลุ่มย่อย ครั้งที่ 2)
เพื่อนำเสนอความคืบหน้าของการศึกษา โดยเฉพาะรายละเอียดของมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบประเด็นต่างๆ และรับฟังความคิดเห็นที่มีต่อมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบ เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการปรับปรุงมาตรการฯ ให้มีความเหมาะสม - การประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3)
เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาทั้งหมดของโครงการในทุกประเด็น ทั้งด้านวิศวกรรมด้านการจราจร ด้านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลการดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ผ่านมาให้กลุ่มเป้าหมายของโครงการได้รับทราบ และเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสรุปผลการศึกษาของโครงการจากกลุ่มเป้าหมายของโครงการ เพื่อใช้ประกอบการปรับปรุงผลการศึกษาของโครงการให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
6.17 งานคำนวณปริมาณงานก่อสร้างและประมาณราคา
คำนวณปริมาณงานก่อสร้าง พร้อมทั้งแสดงรายละเอียดการคำนวณปริมาณงาน และจะต้องจัดเตรียมรายละเอียดการประเมินราคาที่เป็นปัจจุบัน โดยคำนึงถึงกำหนดระยะเวลาในการก่อสร้างตามบัญชีแสดงปริมาณวัสดุ
6.18 งานวิเคราะห์แผนการพัฒนาโครงการ
จัดทำแผนการพัฒนาโครงการเป็นระยะๆ (Development Phase) โดยจะต้องประเมินความคุ้มค่าเบื้องตัน เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนาโครงการเป็นระยะๆ พร้อมจัดเตรียมรายละเอียดปริมาณงานก่อสร้างและการประมาณราคาโดยคำนึงถึงระยะเวลาในการพัฒนาแต่ละระยะ
6.19 งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน
ดำเนินงานสำรวจประเมินทรัพย์สินเพื่อประกอบการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินขั้นเริ่มต้น ตามแนวทางและวิธีการ ดังนี้
- จัดทำแผนที่ประกอบร่างพระราชกฤษฎีกา คือกำหนดขอบเขตพระราชกฤษฎีกาออกไป
ข้างละ 200 เมตร ตามแนวทางที่คัดเลือกแล้ว สำหรับจุดตัด จุดบรรจบ หรือทางแยกต่างระดับ กำหนดขอบเขตทางความกว้างให้เพียงพอต่อการออกแบบ และกำหนดแนวทาง และเขตทางลงบนแผนที่ทหารมาตราส่วน 1 :50,000 - การกำหนดตำแหน่งเขตทาง
- ประมาณจำนวนและราคาทรัพย์สินที่ถูกเขตทาง
- ที่ดิน ตรวจสอบราคาซื้อขาย และราคาประเมินที่ดินของทางราชการที่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ถ่ายสำเนาหลักฐานที่ดิน ราคาที่ดิน ข้อมูลประวัติที่ดิน จัดทำภาพถ่ายดาวเทียมซ้อนทับแนวทางที่คัดเลือก
- สิ่งปลูกสร้าง ให้ใช้ข้อมูลราคา ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าแรง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก่อสร้างและค่าออกแบบและควบคุมงาน ตามราคาปัจจุบันกฏหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
- พืชผลเพื่อการเกษตร คำนวณตามเนื้อที่เพาะปลูกโดยประมาณ ให้ใช้ราคา ชนิดและขนาดตามเกษตรจังหวัด หรือข้อมูลของหน่วยราชการอื่น
- จัดทำเอกสารหลักฐาน
7. สภาพปัจจุบันของพื้นที่โครงการ
7.1 ข้อมูลสายทางเดิม (ถนนสายบ้านม่วงเจ็ดต้น-บ้านภูดู่)
ถนนสายบ้านม่วงเจ็ดต้น ถึงชายแดน สปป.ลาว บริเวณพื้นที่โครงการมีเขตทางเดิม และถนนกว้าง 9.00 ม. ชนิดผิวทางเป็นแอสฟัตล์ติกคอนกรีต อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลม่วงเจ็ดต้น และมีการขยายเขตทางบริเวณหน้าด่านกักกันสัตว์อุตรดิตถ์ กว้าง 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) เป็นเกาะกลางแบบเกาะสี และเกาะกลางแบบยก ดังแสดงใน รูปที่ 7-1 จากการสำรวจสภาพปัจจุบันตามแนวเดิม ถนนสายบ้านม่วงเจ็ดต้น-บ้านภูดู่ พื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ มีจุดเริ่มต้นโครงการเริ่มต้นอยู่บน ทล.1268 ประมาณ กม.ที่ 119+400 บริเวณจุดเริ่มต้นโครงการ ถึงประมาณ กม.ที่ 1+000 สภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ชุมชนอาศัย มีศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ตำบลม่วงเจ็ดต้น ตั้งอยู่ด้านซ้ายทาง ประมาณ กม.ที่ 0+200 ช่วงประมาณ กม.ที่ 1+000 ถึงประมาณ กม.ที่ 4+500 แนวเส้นทางส่วนใหญ่ตัดผ่านพื้นที่ป่าไม้ ลักษณะสภาพภูมิประเทศเป็นเนินเขา ผ่านใกล้อ่างเก็บน้ำห้วยเฮี้ยช่วงประมาณ กม.ที่ 2+500 ถึงประมาณ กม.ที่ 3+000 และบริเวณท้ายโครงการเป็นพื้นที่จุดผ่านแดนถาวรภูดู่ มีพื้นที่อาคารด่านกักกันสัตว์อุตรดิตถ์อยู่ซ้ายทาง และมีอาคารสำนักงานหนังสือผ่านแดน
อยู่ฝั่งขวาทางผ่านออกจากจุดผ่านแดนถาวรภูดู่ ประมาน 700 เมตร จะถึงพรมแดนไทย-สปป.ลาว รูปที่ 7-2 และ
รูปที่ 7.3 ระยะรวมทั้งสิ้นประมาณ 5.533 กิโลเมตร


รูปที่ 7-1 สภาพทั่วไปถนนสายบ้านม่วงเจ็ดต้น-บ้านภูดู่














รูปที่ 7-2 สภาพทั่วไปตามแนวเส้นทางโครงการ (ต่อ)
7.2 สภาพปัจจุบันของจุดเริ่มต้นโครงการ
จุดเริ่มต้นโครงการทางหลวงแนวใหม่จะเริ่มจากถนน ทล.1268 กม.119+400 ตั้งอยู่ตำบลม่วงเจ็ดต้น อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ ช่วงดังกล่าวมีการขยายทางหลวง ขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) พร้อมกับช่องรอเลี้ยวขวาขนาด 1 ช่องจราจร และ ทล.1268 เชื่อมต่อกับ ทล.117 อยู่ในความดูแลของแขวงทางหลวงอุตรดิตถ์ที่ 2
จากการสำรวจพื้นที่โครงการ พบว่ามีจุดตัดทางแยกที่อยู่ใกล้คือจุดตัด ทล.1268 ตัดกับ ทล.117 (ทางแยกวังสัมพันธ์) จุดตัดดังกล่าวเป็นจุดสิ้นสุดของ ทล.117 ทั้งสองทางแยกมีระยะห่างกันประมาณ 200 ม. ดังแสดงในรูปที่ 7-4 และ รูปที่ 7-5
7.3 สภาพปัจจุบันบริเวณจุดสิ้นสุดโครงการ
จากการตรวจสอบภาคสนามของพื้นที่โครงการ พบว่า บริเวณจุดผ่านแดนถาวรภูดู่ ถนนเข้าด่านเดิมมีขนาด 4 จราจร (ไป – กลับ) สภาพทั่วไปเป็นถนนลาดยางผิวจราจรชำรุดตลอดเส้นทางจนถึงชายแดน สปป.ลาว บริเวณจุดเชื่อมต่อชายแดนพื้นที่เป็นภูเขาสูงชัน มีลักษณะที่คดโค้ง ดังแสดงใน รูปที่ 7-6






